คอลัมน์ MarkeThinks 06 : การตลาดท้องถิ่น (Local area marketing)

by

| Home » บทความธุรกิจ-การตลาด » บทความการตลาด » คอลัมน์ MarkeThinks » คอลัมน์ MarkeThinks 06 : การตลาดท้องถิ่น (Local area marketing) |


คอลัมน์การตลาด MarkeThinks 06 : การตลาดท้องถิ่น (Local area marketing)

พิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร Foodbook ปีที่ 1 ฉบับที่ 7

คอลัมน์การตลาด ฉบับนี้ ตอนที่ทราบแกนเรื่องของฉบับนี้ ก็คิดว่าจะเขียนถึงเรื่องหนึ่ง แต่บังเอิญว่าเป็นช่วงที่กำลังจะเดินทางมาญี่ปุ่น จึงตัดสินใจที่จะเดินทางมาที่ญี่ปุ่นก่อนเพื่อเก็บบางสิ่งบางอย่าง ดังนั้นคอลัมน์ฉบับนี้ถือว่า import เข้าประเทศกันเลยทีเดียว

รีบเข้าเรื่องกันดีกว่ากับพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด โดยขอพูดอีกทีก่อน ในแง่การตลาดหลักใหญ่หากกล่าวกันแบบพื้นๆ ก็จะต้องเริ่มต้นจากการเลือกว่าจะยืนหรือเข้าตลาดแบบกว้างหรือแคบ ซึ่งมันจะสะท้อนไปต่อว่าเราจะเลือกกลยุทธ์อะไรมาใช้ ให้ “เหมาะสม” ในการวางแผนต่อไป

ดังที่เคยย้ำและที่บอกว่า “เหมาะสม” ไม่ได้สื่อว่าะสำเร็จเสมอไปในความเป็นจริงไม่มีใครรู้ได้ชัด แต่หากใช้กลยุทธ์หรือเครื่องไม้เครื่องมือที่ “ไม่เหมาะสม” อันนี้ยากที่จะสำเร็จแน่นอน ดังที่เคยพยายามอธิบายไว้แล้วฉบับแรกๆ แต่สิ่งที่จะกล่าวเพิ่มเติมแง่ความแตกต่างมุมหนึ่งว่า ขีดจำกัดของธุรกิจย่อมต้องมี ไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน ความรู้ หรืออื่นๆ นี่ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องประเมินตัวเองให้ได้ก่อน เพราะผมเคยย้ำอีกเช่นกัน การทำการตลาดแบบตามๆ เขาไปต้องเข้าใจให้ชัดเจน มิเช่นนั้นแล้วผลลัพธ์มันจะแตกต่างกัน

ธุรกิจเล็กๆ หรือในท้องถิ่นนั้นไม่ใช่ว่าจะใช้หลักการ หรือทฤษฎีอะไรมาช่วยไม่ได้ แต่คนที่ไม่เข้าใจหลักการแท้จริง คิดว่ารู้แล้ว แล้วดูถูก บ้างก็ยังไม่รู้จริงจะมองว่าเป็นเพียงเรื่องของวิชาการ ในขณะที่คนรู้แล้วเขาจะเห็นอยู่ตลอดเวลาว่า อะไรที่ทำให้ร้านนั้นดี ร้านนี้เจ๊ง ตรงกับหรือบังเอิญใช้หลักการใดจึงได้ผลเช่นนั้น

ญี่ปุ่นหากคนเคยสนใจจะทราบกันดีว่าให้ความสำคัญกับธุรกิจท้องถิ่นมาก แม้จะมีอุตสาหกรรมอื่นใหญ่โต พบเห็นได้ตามเมืองทั่วไปว่า การกระจายของธุรกิจครอบครัว หรือ SME เป็นไปแบบสม่ำเสมอและอยู่บนความภาคภูมิใจ ป้ายประเภทหนึ่งที่เห็นบนร้านสำคัญๆ คือ Since … หมายถึงว่าตั้งมาตั้งแต่ปีไหน สิ่งนี้ไม่ใช่แค่กลยุทธ์การตลาด แต่หมายรวมถึงกลยุทธ์ธุรกิจ ในแง่ของ Core Competency หรือความสามารถหลักของผู้ดำเนินธุรกิจนั้น ที่เขาชำนาญ เก่ง หรือเชี่ยวชาญเรื่องอะไร คนท้องถิ่นหรือลูกค้าจะให้การยอมรับ จริงๆแล้วอาจเริ่มจากการ “หาตัวเองให้เจอ” และยืนหยัดบนความภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนทำเหมือนคนญี่ปุ่น

นี่คือรากฐานความสำเร็จหนึ่ง เหมือนเวลาเราเห็นรายการจากญี่ปุ่นหลายรายการจะเน้นไปที่ความเชี่ยวชาญของแต่ละกลุ่มธุรกิจ หรืออาชีพ นี่น่าจะเป็นหัวใจแท้ของ Differentiation โดยแท้จริงในการทำการตลาด Niche หรือจำเพาะ

เมื่อหันมามองในส่วนใหญ่ของไทยคือใครทำอะไรดีจะตามเขาไป แปลงจนได้ดีกว่าบ้าง เจ๊งบ้าง หรือเคยมีดีอยู่แต่ไม่รักษา ไม่เห็นคุณค่า หรือยืนหยัดแล้วปรับปรุงให้ดีขึ้นตามสมัย สุดท้ายธุรกิจน้อยรายที่จะ(เก่าแก่) และอยู่รอด

แน่นอนว่าด้วยค่านิยมและสิ่งแวดล้อมทำให้เปรียบเทียบกับญี่ปุ่นไม่ได้นั่นจริงอยู่ แต่ลองมองดีๆ ในเมื่อธุรกิจหากินแค่ท้องที่ เหตุใดจึงไม่เข้าใจท้องถิ่นตัวเอง นี่เพราะบางทีเรามองธุรกิจผิดไปในมุมไหน อาจเกิดจากการแค่เคยตัวกับการเลียนแบบ มองชาวบ้านเขาเรื่อยไปจนลืมว่า ไม่มีใครรู้จักที่นี่ ตลาดนี้ ดีไปกว่าเรา

เราต้องยอมรับว่าการ “เอาใจ” คนท้องถิ่นนั้นทำยาก การตลาดมันจึงไม่ง่าย แต่การ “เข้าใจ” คนท้องถิ่นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ถ้ารู้จักใช้หลักการบางอย่างเป็น และเห็นความสำคัญ จงระลึกเสมอว่า สินค้าส่วนใหญ่ ขายตัวมันเองไม่ได้.. ต้องอาศัยหลายอย่างก่อนจะไปจุดนั้นและบางทีเปลี่ยนมุมคิดไปเป็นในด้านที่ว่า ให้เขา “รู้จักเราดี” ว่าสิ่งที่เราขายนี้มีดีอะไร ทำไมต้องซื้อเรา และอะไรที่เราตอบโจทย์ความต้องการเขาได้แบบไม่จำเป็นต้อง “เอาใจ” ใคร แต่ “เข้าใจ” กันดีทั้งสองฝ่าย และการขายจึงจบง่ายทันที เริ่มจากที่ เรามีดี (Core Competency) อะไรก่อน

ยังไม่จบเท่านี้ คราวหน้าพบกับมุมคิด Markethinks การตลาดดีๆ จากญี่ปุ่น กันอีกทีครับ

คอลัมน์การตลาด กลยุทธ์การตลาด การตลาดท้องถิ่น
นิตยสาร Foodbooks (หัวหิน) คอลัมน์ Markethinks 06
Sirichaiwatt Avatar
วิทยากร คอลัมนิสต์ นักเขียน นักคิด ที่ปรึกษา จากสายด้านธุรกิจ การตลาด สู่การจัดการบุคคลากร และว่าที่นักจิตวิทยาการปรึกษา
แสดงความคิดเห็น