พิมพ์ครั้งแรก : นิตยสาร Foodbook ฉบับที่ 21
ถ้าผมถามว่า ทุกวันนี้คุณมี “รายจ่ายประจำแต่ละเดือน” อยู่ที่เท่าไหร่? น้อยคนนักที่จะบอกว่า ไม่มี!!
ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์มือถือ, ค่าบัตรเครดิต, ผ่อนสินค้า, ค่างวดบ้าน, รถ, หรืออื่นๆ ตามแต่บุคคล ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่กับคนมีเงินเดือนอย่างเดียว คนไม่มีเงินเดือนกับเขาอย่างผมหรือหลายคน ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายพวกนี้อยู่ทุกเดือนไม่น้อยเลย
เราไม่ได้จะมาพูดเรื่องการบริหารการเงิน ทว่าในยุคปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องถือว่าเป็น “ปัจจัยนำตลาด” ที่แท้จริง ดังเช่น ผู้คนต่างใช้มือถือกันเป็นชีวิตจิตใจ สื่อต่างๆ ก็ต้องตอบรับและวิ่งเข้าหา หรือ ผู้คนนิยมนั่งเรื่อยเปื่อย, คุยงาน, พบปะ กันในร้านกาแฟ ร้านกาแฟจึงจำเป็นต้องมีอะไรมากกว่า รสชาติกาแฟ นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการสร้างช่องทาง หรือพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการตลาดประการหนึ่ง ที่หากจับได้ถูกจุดแล้วจะสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจปัจจุบันได้อย่างดี จึงเป็นแง่คิดสำหรับบทความการตลาดของเราวันนี้
การปรับตัวเข้ากับยุคสมัยในธุรกิจการตลาดนั้น ไม่จำเป็นว่าเราต้องพัฒนาสินค้าเสมอไป เพราะบางทีสินค้าเราห่างไกลกับเรื่องเทคโนโลยี แต่มันมีช่องทางอะไรใหม่ๆ หรือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไร เราจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องเหล่านี้อย่างขาดไม่ได้เลยทีเดียว
ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า การค้าขายออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากแล้วในปัจจุบัน ช่องทางการจำหน่ายนี้ เริ่มทำให้การเข้ามาของสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เป็นไปได้ง่ายขึ้น อนาคตทุกอย่างจะจ่ายกันด้วยบัตร หรืออุปกรณ์ส่วนตัว ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แน่นอนว่าเงินเหล่านี้จะ “อยู่บนระบบ” ประกอบกับ พฤติกรรมหรือ Life Style ของคนในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นไปดังที่กล่าวแล้ว การใส่ใจในการบริการการเงินส่วนบุคคลก็เริ่มมีความตื่นตัว โดยอย่างยิ่งมนุษย์เงินเดือน ซึ่งเราจะมองว่าเกี่ยวหรือไม่ก็ตาม แต่เรื่องนี้จะมาพร้อมคำว่า เครดิต
คงพอทำให้เห็นภาพได้ว่าสังคมหรือปัจจัยต่างๆ เกิดพฤติกรรมหนึ่งอันเกี่ยวเนื่องกับวิธีการขายที่เรียกว่า Monthly Subscription ที่น่าจะพอเรียกเอาได้ว่า “เหมาจ่ายรายเดือน” ที่เราอาจไม่แปลกใจอะไรกับสิ่งนี้เพราะจ่ายค่าบริการหลายๆ อย่างแบบนี้มานานแล้ว เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ
แต่ถ้าคิดให้ดี นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากความพึงพอใจหรือบนความต้องการผู้บริโภคเป็นหลัก หากเป็นเพียงกระบวนการที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเท่านั้น ซึ่งผิดกับทุกวันนี้คนทั่วไป พอใจและเคยชิน กระทั่งยินดี หากต้องจ่ายสิ่งต่างๆ ครั้งเดียวในตอนสิ้นเดือนไปเลย
ผมเคยบรรยายเรื่องแนวโน้มเทคโนโลยี และสิ่งต่างๆ ในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการตลาด ได้ผ่านตาแนวคิดวิจัยหลายๆ ประการที่บ่งชี้ว่า ต่อไปเราจะมีระบบแชร์กันมากขึ้น รถ บ้าน สิ่งต่างๆ อาจไม่นิยมซื้อขายขาด เพราะเกินความจำเป็นและสิ้นเปลืองหลายๆ ทรัพยากรบนโลกที่พื้นที่จำกัดมากขึ้น จึงจะกลายเป็นระบบเช่ารายเดือนแทนที่ นี่ว่ากันไปในอนาคตเลยทีเดียว
ในธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ร้านอาหารเราอาจใช้โอกาสตรงนี้ได้ไม่ยาก ให้เป็นอะไรที่คล้ายๆ กับสิ่งที่อาจเคยได้ยินอย่างการ “ผูกปิ่นโต” นั่นก็คือการจ่ายครั้งเดียวกินไปตลอด แต่ตรงนี้ดูเหมือนว่าจะใช้ได้กับร้านอาหารตามสั่งเพียงอย่างเดียว? ก็ไม่ยากนัก หากเป็นร้านอาหารที่มีอาหารจำกัด การขายในแบบนี้ก็ยังคงทำได้แต่เป็นไปในรูปแบบที่ว่า เดือนหนึ่งมาทานได้กี่ครั้งเป็นต้น
แม้ว่าแนวคิดนี้อาจใช้ได้หรือไม่ได้กับธุรกิจของเรา แต่ประเด็นสำคัญคือ บางทีการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยในธุรกิจการตลาดนั้น ไม่จำเป็นว่าเราต้องพัฒนาสินค้าเสมอไป เพราะบางทีสินค้าเราห่างไกลกับเรื่องเทคโนโลยี แต่มันมีช่องทางอะไรใหม่ๆ หรือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไร เราจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องเหล่านี้อย่างขาดไม่ได้เลยทีเดียว